น้ำมันเครื่องที่ดีต้องมีลักษณะอย่างไร?
Posted on 28 เม.ย. 23
‘น้ำมันเครื่องที่ดี’ จะส่งผลให้รถยนต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพวิ่งได้เต็มสมรรถนะตลอดทุกการขับขี่ และช่วยยืดอายุเครื่องยนต์ของรถคุณให้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยวันนี้ทาง FIT Auto จะมาบอกถึงคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องที่ดี พร้อมมีวิธีเลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะกับรถมาฝากทุกคนกันครับ
1.มีค่าความหนืดที่เหมาะกับการใช้งาน
เนื่องจากฟิล์มบางๆ ในน้ำมันเครื่องจะช่วยเคลือบชิ้นส่วนเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดการเสียดสี และยืดอายุการใช้งานของซีลยางโอริงที่ป้องกันการรั่วซึมของน้ำมันตามรอยต่อเครื่องยนต์ โดยความหนาของฟิล์มจะขึ้นอยู่กับความหนืด ยิ่งหนืดฟิล์มยิ่งหนา หากความหนืดต่ำฟิล์มจะบาง
2.มีคุณสมบัติในการชะล้างที่ดี
เนื่องจากในขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน อาจเกิดเขม่าหรือคราบสกปรกตามชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ น้ำมันเครื่องที่ดีควรขจัดคราบสกปรกเหล่านี้ออกไปให้ได้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจะมีคราบเขม่าหลงเหลืออยู่ในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ที่เกาะติดอยู่กับชิ้นส่วนภายในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์
3. มีคุณสมบัติในการกระจายคราบสกปรก
เมื่อขจัดคราบสกปรกออกจากน้ำมันเครื่องไปได้แล้ว จะไหลมารวมกันในอ่างน้ำมันเครื่องที่อยู่ด้านล่างสุดของเครื่องยนต์ ซึ่งน้ำมันเครื่องที่ดีควรกระจายคราบไม่ให้ติดกันเป็นก้อน เพื่อป้องกันการอุดตันของท่อเดินน้ำมัน และการกัดกร่อนของแหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบ เพลาข้อเหวี่ยงกับก้านสูบ กลไกยกวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย
4. มีสาร Anti-oxidant ป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือเกิดน้ำในน้ำมันเครื่อง
ขณะเครื่องยนต์ทำงานเพลาข้อเหวี่ยงภายในเครื่องยนต์จะหมุนตีให้น้ำมันเครื่องเกิดฟองอากาศหรือออกซิเจนขึ้นมา และเมื่อน้ำมันเครื่องทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจะเป็นยางเหนียว ทำให้การหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ลดน้อยลง ซึ่งเครื่องยนต์จะเกิดการเสียดสีและสึกหรอมากขึ้น เพราะฉะนั้นการมีสารชนิดนี้จะช่วยให้น้ำมันเครื่องทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศได้ช้าลง
5. มีค่าความด่างที่เหมาะสม
เนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง (โดยเฉพาะดีเซล) จะมีไอเสียหรือเขม่าตกค้างอยู่ในเครื่องยนต์ซึ่งเกิดกรดกำมะถันขึ้น เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำมันเครื่องจะเกิดสภาพความเป็นกรดซึ่งไม่เป็นผลตีต่อเครื่องยนต์ ดังนั้นน้ำมันเครื่องที่ดีควรมีค่าความเป็นด่างที่เหมาะสม เพื่อช่วยปรับสภาพของน้ำมันเครื่องให้เป็นกลาง ป้องกันการกัดกร่อนของชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ได้
6. มีสารป้องกันการสึกหรอ
น้ำมันเครื่องส่วนใหญ่จะมีสารป้องกันการสึกหรอมากน้อยต่างกัน จะทำหน้าที่เป็นฟิล์มบางๆ เคลือบผิวชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ เช่น แหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบ แบริ่งเพลาข้อเหวี่ยงกับก้านสูบ เพื่อช่วยลดการเสียดสีและการสึกหรอในช่วงสตาร์ทเครื่องยนต์
7. มีสารป้องกันสนิม
ไอน้ำหรือความชื้นที่เกิดจากฟองอากาศขณะเครื่องยนต์ทำงานหรือจอดรถทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะแทรกตัวเข้าไปถึงชิ้นส่วนของเครื่องยนต์โดยตรงซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสนิม เพราะฉะนั้นน้ำมันเครื่องที่ดีจะมีสารเคลือบไม่ให้ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ที่มีส่วนผสมของเหล็กเกิดเป็นสนิมจนผุกร่อนเสียหาย
8. มีสารป้องกันฟอง
ในขณะที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน น้ำมันเครื่องจะไหลเวียนขึ้นและลงเพื่อหล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดฟองอากาศขึ้นภายในเครื่องยนต์ ซึ่งอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการหล่อลื่นลดลง การมีสารป้องกันจะช่วยให้ลดการเสียดสีและการสึกหรอของชิ้นส่วนภายใน และเครื่องยนต์ยังคงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
9. มีสารป้องกันการระเหยง่าย
จะทำให้น้ำมันเครื่องมีความทนทานต่ออุณหภูมิสูง ป้องกันการระเหยได้ดี ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องออกไป ไม่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมันขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน
10. มีสารลดความฝืด
ช่วยให้ชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ที่เคลื่อนที่เสียดสีกันขณะที่หมุนที่ความเร็วรอบต่ำ ปานกลางหรือสูง มีอุณภูมิที่ลดลง และใช้เชื้อเพลิงได้ประหยัดขึ้น
11. มีค่าดัชนีความหนืดสูง
เพื่อช่วยให้น้ำมันเครื่องรักษาความหนืดได้ดี ไม่บางจนเกินไปจนฟิล์มน้ำมันเครื่องใสเมื่ออุณภูมิสูง และไม่หนาจนเกินไปจนฟิล์มน้ำมันเครื่องข้นเมื่ออุณภูมิต่ำ ให้การหล่อลื่นมีประสิทธิภาพเหมาะกับการใช้งานสูงสุด และช่วยทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทติดง่ายและลดการสึกหรอ
12. มีจุดไหลเทต่ำ
เพื่อช่วยให้น้ำมันเครื่องสามารถไปใช้งานในที่มีอุณหภูมิต่ำได้
วิธีการเลือกน้ำมันเครื่องให้เหมาะกับรถคุณ
1. เลือกประเภทน้ำมันเครื่อง: ให้ถูกประเภทกับเครื่องยนต์ของเรา เพราะหากเติมผิดประเภทจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วและเกิดความเสียหายได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท
- น้ำมันเบนซิน ฉลากระบุว่า “Gasoline”
- น้ำมันดีเซล ฉลากระบุว่า “Diesel”
2. เลือกชนิดน้ำมันเครื่อง: แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- น้ำมันสังเคราะห์ (Fully Synthetic): ระยะเปลี่ยนถ่ายจะอยู่ที่ 10,000 - 12,000 กม. หรือสูงสุดไม่เกิน 20,000 กม.
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic): ระยะเปลี่ยนถ่ายจะอยู่ที่ 5,000 - 7,000 กม. หรือสูงสุดไม่เกิน 10,000 กม.
- น้ำมันเครื่องธรรมดา (Synthetic): ระยะเปลี่ยนถ่ายจะอยู่ที่ 5,000 กม. หรือสูงสุดไม่เกิน 7,000 กม.
3. เลือกความหนืดของน้ำมันเครื่อง: หรือระดับความข้นของน้ำมันเครื่อง สามารถดูได้จากตัวอักษร “W”
หน้าหลังบนแกลลอนน้ำมันเครื่อง แนะนำให้ดูจากคู่มือที่ติดมากับรถยนต์จะมีบอกว่ารถของคุณควรใช้ความหนืดที่เท่าไหร่
ความรู้แน่นขนาดนี้แล้ว อย่าลืม! เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ดี และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานรถยนต์ของคุณด้วยนะครับ อีกทั้งควรตรวจเช็กน้ำมันเครื่องอย่างสม่ำเสมอเปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะ เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ หากรถมีปัญหา อยากเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือต้องการตรวจเช็กรถ เลี้ยวรถมาหาเราได้เลยที่ FIT Auto ทุกสาขาทั่วประเทศครับ
📱 ติดตามข่าวสารทาง Instagram : https://www.instagram.com/fitautothailand/
📲 โหลดแอป FIT Auto ได้แล้ววันนี้ : https://downloadapp.pttfitauto.com/
🕵 ค้นหา FIT Auto ใกล้บ้าน : https://www.pttfitauto.com/th/branch
🔧 จองบริการตรวจเช็กฟรี : https://www.pttfitauto.com/th/booking
☎️ ติดต่อ Call Center โทร : 1365 กด 17
#FITAuto #เชี่ยวชาญบริการจากใจ